Print

บร.วศ. ร่วมแสดงความยินดีนางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ รับพระราชทานรางวัล DMSc Award ประจำปี 2564

on 24 August 2021
Hits: 2882

 

Harmonize 02 Harmonize 01
dmsc3 dmsc4

 

                กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ขอร่วมแสดงความยินดีแก่ นางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ หัวหน้ากลุ่มรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ 3 กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ  เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประเภทการพัฒนาบริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “การพัฒนาการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบทางการแพทย์สู่การยอมรับในระดับสากลกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ” หน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 “วิทยาศาสตร์การแพทย์วิถีใหม่ เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

                โดยเป็นการพัฒนางานบริการ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งกองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการเป็นหน่วยงานเดียวในนามประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับร่วมกับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation Mutual Recognition Arrangement, ILAC MRA) ด้านการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้จัดโปรแกรมฯ ที่ได้รับการรับรอง เป็นลำดับที่ 5 ของโลก จำนวน 29 ราย โดยมีจำนวนผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ให้การรับรอง จำนวน 19 ราย การพัฒนาการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมฯ ให้ได้รับการยอมรับร่วม จึงมีความสำคัญยิ่งกับการสร้างความเชื่อมั่นในการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการไทยและต่างประเทศทั้งด้านการทดสอบ สอบเทียบ และด้านการทดสอบทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เมื่อการประเมินคุณภาพจากภายนอกของการตรวจวิเคราะห์ทางด้านสาธารณสุข (External Quality Assessment, EQA) ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับแก่ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการวินิจฉัยโรค การรักษาโรค การป้องกันควบคุมโรค และการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย มีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์หรือตัดสินใจที่สำคัญของประเทศได้